อาการหลั่งเร็ว ภาวะที่เพศชายมีการหลั่งภายใน 1 นาทีหลังการสอดใส่ สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับมือกับอาการได้ เสร็จไวหรือหลั่งเร็วทำให้เกิดความไม่มั่นใจในตัวเอง เครียด วิตกกังวล เกิดปัญหาความสัมพันธ์ Table of Contents หลั่งเร็ว คืออะไร รู้จักอาการ อาการหล
ซิฟิลิสโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่แฝงตัวได้นานนับสิบปี
Key Takeaways
- โรคซิฟิลิส (Syphilis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum ติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือการสัมผัสสารคัดคลั่งของผู้ติดเชื้อ
- มักพบแผลริมแข็ง กดแล้วไม่เจ็บบริเวณอวัยวะเพศ
- หากปล่อยไว้นานอาการอาจหายไปจนผู้ป่วยคิดว่าหายเป็นปกติ แต่เชื้อยังแฝงตัวในร่างกายได้หลายสิบปี
โรคซิฟิลิส คืออะไร
โรคซิฟิลิส (Syphilis) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือการสัมผัสสารคัดคลั่งของผู้ติดเชื้อ ซิฟิลิสเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Treponema Pallidum สำหรับโรคซิฟิลิสนั้นอาการที่มักพบ เช่น มีแผลริมแข็งที่ปาก อวัยวะเพศ หรือทวารหนัก มีผื่นแดงหรือน้ำตาลแดง โดยเฉพาะที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ในบางอาจมีไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ผมร่วง ผื่นหรือแผลในปากร่วมด้วย สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการติดต่อของโรคซิฟิลิส ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปากกับผู้ที่ติดเชื้อซิฟิลิส
การสัมผัสโดยตรงกับแผลริมแข็ง (Chancre) การสัมผัสแผลหรือรอยโรคของผู้ที่มีเชื้อซิฟิลิส โดยเฉพาะหากมีรอยแตกหรือบาดแผลเล็ก ๆ บนผิวหนัง และการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารก (Congenital Syphilis)
ซิฟิลิสแต่กำเนิด คืออะไร
โรคซิฟิลิสแต่กำเนิด (Congenital Syphilis) คือการติดเชื้อซิฟิลิสที่เกิดขึ้นในทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา โดยเชื้อแบคทีเรีย Treponema Pallidum ถูกส่งผ่านจากมารดาที่ติดเชื้อซิฟิลิสไปยังทารกผ่านทางรก การติดเชื้อนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกระยะของการตั้งครรภ์และอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อทารก
ลักษณะและอาการของซิฟิลิสแต่กำเนิดที่พบในทารกแรกเกิด ได้แก่
- ผื่นที่ผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- ตับและม้ามโต
- ตัวเหลือง (ดีซ่าน)
- ปัญหาทางระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
BeDee Tips: เริมกับเริมที่ปาก ติดต่อได้ไหม มีอาการอย่างไร อ่านเลย
ปรึกษาวิธีรักษาโรคซิฟิลิสกับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่มีค่าจัดส่งยา
ซิฟิลิส แบ่งเป็นกี่ระยะ มีอาการอะไรบ้าง
โรคซิฟิลิส (Syphilis) แบ่งออกเป็น 4 ระยะหลัก แต่ละระยะมีอาการดังนี้
ระยะที่ 1 ระยะปฐมภูมิ (Primary syphilis)
อาการซิฟิลิสในระยะแรกนี้ผู้ป่วยจะพบว่ามีแผลริมแข็ง (Chancre) ลักษณะเป็นแผลที่มีขอบนูนแข็ง กดแล้วไม่เจ็บปรากฎขึ้นบริเวณ อวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก ในช่วง 3 สัปดาห์หลังติดเชื้อ โดยแผลริมแข็งเหล่านี้จะหายได้เองภายใน 3-6 สัปดาห์แม้ไม่ได้รับการรักษาแต่จะยังพบเชื้อซิฟิลิสอยู่ในร่างกายของผู้ป่วยหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา Syphilis อย่างเหมาะสม
ระยะที่ 2 ระยะทุติยภูมิ (Secondary syphilis)
Syphilis ระยะที่ 2 นี้คือช่วง 3-12 สัปดาห์หลังจากผู้ป่วยติดเชื้อซิฟิลิส โดยเชื้อซิฟิลิสจะเริ่มแพร่กระจายสู่ต่อมน้ำเหลืองและกระแสเลือดของผู้ป่วย อาการอาการซิฟิลิสที่พบได้ในระยะนี้ ได้แก่
- ผื่นขึ้นทั่วร่างกาย โดยเฉพาะที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า
- มีไข้
- เจ็บคอ
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- ปวดหัว
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ
- มีแผลในปาก ทวารหนัก หรืออวัยวะเพศ
อาการเหล่านี้อาจหายไปเองและกลับมาอีกในระยะเวลาหลายปีหากไม่ได้รับการรักษา
ระยะที่ 3 ระยะแฝง (Latent syphilis)
การติดซิฟิลิสในระยะที่ 3 ผู้ป่วยจะไม่มีอาการของโรคซิฟิลิสแต่จะยังพบเชื้ออยู่ในร่างกายซึ่งจะกินเวลาประมาณ 20 ปี จึงจะเข้าสู่อาการซิฟิลิสในระยะถัดไป
ระยะที่ 4 ระยะสุดท้าย (Tertiary syphilis)
หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาซิฟิลิสอย่างเหมาะสมจะเข้าสู่ระยะสุดท้ายของโรค ในระยะนี้จะพบว่ามีผื่นแดงนูน กดไม่เจ็บหรือพบแผลฝีขึ้นตามผิวหนัง นอกจากนี้เชื้อซิฟิลิสยังส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น เช่น หัวใจ เส้นเลือด สมอง และระบบประสาท ทำให้เกิดปัญหาทางระบบประสาท ได้แก่ สมองเสื่อม ความจำเสื่อม อาการหลงลืม หรือมีปัญหาทางการเคลื่อนไหว ปัญหาหลอดเลือดแดงโป่งพองหรือรั่ว
BeDee Tips: รู้จักโรคเอดส์ อาการ และวิธีการรักษาเพิ่มเติม อ่านเลย
ซิฟิลิสวินิจฉัยอย่างไร
การตรวจร่างกาย
การวินิจฉัยซิฟิลิสโดยเบื้องต้นแพทย์จะตรวจร่างกายและซักประวัติผู้ป่วยเพื่อประเมินอาการ ความเสี่ยง รวมถึงประเมินว่าผู้ป่วยควรได้รับการตรวจในด้านใดเพิ่มเติมเพื่อนำมาประกอบการวินิจฉัยต่อไป
การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์
การตรวจซิฟิลิสในรูปแบบนี้คือการเก็บตัวอย่างจากแผลที่อยู่ในระยะเริ่มแรกของโรคซิฟิลิส และนำไปตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิดมืด (Dark-field microscopy) เพื่อหาเชื้อ Treponema pallidum
การตรวจเลือด
การตรวจหาเชื้อซิฟิลิสด้วยวิธีการตรวจเลือดนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- Non-treponemal tests: เช่น VDRL (Venereal Disease Research Laboratory) และ RPR (Rapid Plasma Reagin) เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นเมื่อเกิดการติดเชื้อซิฟิลิส วิธีนี้ใช้ในการตรวจคัดกรองและติดตามการรักษา
- Treponemal tests: เช่น FTA-ABS (Fluorescent Treponemal Antibody Absorption) และ TP-PA (Treponema Pallidum Particle Agglutination) เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันเฉพาะเจาะจงต่อเชื้อ Treponema pallidum วิธีนี้ใช้ในการยืนยันการติดเชื้อหลังจากผลบวกจากการตรวจ Non-treponemal test
การตรวจน้ำไขสันหลัง (Lumbar puncture)
การตรวจหาซิฟิลิสในรูปแบบนี้จะใช้ในกรณีที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อซิฟิลิสในระบบประสาท (neurosyphilis) แพทย์อาจเก็บตัวอย่างน้ำไขสันหลังไปตรวจสอบ
BeDee Tips: ไวรัส HPV ไม่ได้ทำให้เกิดโรคมะเร็งเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิด หูดหงอนไก่ ได้อีกด้วย อ่านเพิ่มเติมเลย
ซิฟิลิสมีวิธีรักษาอย่างไร
วิธีรักษาซิฟิลิสทำได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยยาที่ใช้ในการรักษาซิฟิลิสมีดังนี้:
- ยาฉีดเพนิซิลลิน (Penicillin G) เป็นยาที่ใช้บ่อยที่สุดในการรักษาซิฟิลิส (syphilis) เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูง ยาเพนิซิลลินที่ใช้ ได้แก่ Benzathine Penicillin G ซึ่งสามารถฉีดเข้ากล้ามเนื้อได้
- ยาปฏิชีวนะอื่น ๆ ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้เพนิซิลลิน แพทย์อาจใช้ยาปฏิชีวนะอื่น ๆ เช่น Doxycycline, Tetracycline หรือ Ceftriaxone
นอกจากนี้แพทย์จะติดตามผลการรักษาโดยการตรวจเลือดเพื่อดูว่าภูมิคุ้มกันลดลงหรือไม่ทุก 6 เดือนในช่วงปีแรกหลังการรักษา และหลังจากนั้นทุกปีจนกว่าจะมั่นใจว่าการติดเชื้อซิฟิลิสถูกกำจัดออกไปหมด ผู้ป่วยควรป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น การรักษาซิฟิลิสอย่างถูกต้องและทันเวลาเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลามไปยังระยะที่รุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อน
ปรึกษาเรื่องการรักษาซิฟิลิสกับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว ไม่มีค่าจัดส่งยา
ซิฟิลิส ภาวะแทรกซ้อนคืออะไร
แม้จะไม่มีอาการปรากฎให้เห็นแต่เชื้อซิฟิลิสสามารถแฝงอยู่ในร่างกายได้หลายสิบปีหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องหรือทันเวลาซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น
- เกิดก้อนเนื้อตาย (Gummas)ที่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ผิวหนัง กระดูก ตับ
- ทำให้เกิดความเสียหายต่อหัวใจและหลอดเลือด อาจทำให้เกิด Aneurysm (การโป่งพองของหลอดเลือด) หรือการอักเสบของหลอดเลือดใหญ่ (Aortitis)
- เกิดการติดเชื้อในระบบประสาท ซึ่งอาจทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง (Meningitis)
- เกิดอาการทางระบบประสาทต่าง ๆ เช่น ปวดหัว ชัก การเคลื่อนไหวผิดปกติ สูญเสียความจำ หรืออัมพาต รวมถึงภาวะสมองเสื่อม (Dementia)
- ซิฟิลิสทางตาอาจทำให้เกิดอาการปวดตา มองเห็นไม่ชัด ไวต่อแสง หรือตาบอด
- โรคโอโตซิฟิลิสส่งผลต่อการได้ยินและหรือการทรงตัวของบุคคล
- ซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์ (Congenital Syphilis) ที่ไม่ได้รับการรักษา เชื้อสามารถแพร่ไปยังทารกในครรภ์ผ่านทางรกได้ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่อทารก เช่น การเสียชีวิตในครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักน้อย ทารกเกิดมาพร้อมกับความพิการหรือความผิดปกติทางร่างกายและพัฒนาการ
ซิฟิลิสมีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง
การป้องกันโรคซิฟิลิสสามารถทำได้ดังนี้
- การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้อง ซิฟิลิสยังสามารถแพร่กระจายได้หากถุงยางอนามัยไม่ปิดรอยโรคอย่างเหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ไม่ใช้เข็มฉีดยา หรือกรรไกรตัดเล็บร่วมกับผู้อื่น
- ตรวจสุขภาพประจำปี
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสบาดแผลของผู้อื่น
- หากทราบว่าตนเองติดเชื้อซิฟิลิส ควรแจ้งให้คู่นอนทราบและตรวจรักษาเพื่อลดการแพร่เชื้อ
- การหลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด
- หลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับใครสักคนหากคุณไม่แน่ใจว่าพวกเขาติดเชื้อหรือไม่ เช่น การจูบหรือ ออรัลเซ็กส์
- ใช้แผ่นกั้นฟันเมื่อคุณมีเพศสัมพันธ์ทางปาก Dental Dam เป็นแผ่นโพลียูรีเทนบาง ๆ ที่ใช้กั้นระหว่างปากกับช่องคลอดหรือทวารหนัก
- ไม่ควรใช้ของเล่นทางเพศร่วมกับผู้อื่น
- ให้นมลูกด้วยความระมัดระวัง ซิฟิลิสสามารถแพร่เชื้อจากแม่สู่ทารกได้ในระหว่างให้นมบุตร หากมีแผลที่เต้านม
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับซิฟิลิส
1. ซิฟิลิสอาการในผู้หญิงกับผู้ชายแตกต่างกันไหม และมีอาการเป็นอย่างไร?
ซิฟิลิสอาการผู้หญิงและผู้ชายมีลักษณะคล้ายคลึงกัน เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Treponema Pallidum อาการที่พบได้ในระยะ 1-2 เช่น มีแผลริมแข็งเล็ก ๆ (Chancre) ที่บริเวณ เช่น บริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ปาก หรือลำคอ แผลนี้จะไม่เจ็บปวดและจะหายไปเองใน 3-6 สัปดาห์ แม้ไม่ได้รับการรักษา มีผื่นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย โดยเฉพาะที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ผื่นนี้อาจจะไม่คัน อาจมีอาการอื่น ๆ เช่น ไข้ ต่อมน้ำเหลืองบวม เจ็บคอ ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย
2. โรคซิฟิลิสหายได้ไหม?
โรคซิฟิลิสรักษาให้หายขาดได้โดยเฉพาะหากผู้ป่วยรีบรักษาภายในช่วง 1 ปีแรก สามารถหยุดการแพร่กระจายของเชื้อซิฟิลิสได้ แต่หากผู้ป่วยปล่อยให้เชื้อลุกลาม ไม่รักษาอย่างเหมาะสมอาจทำให้ตัวโรคพัฒนาเข้าสู่ระยะต่อ ๆ ไปได้
3. ซิฟิลิสใช้เวลารักษานานแค่ไหน?
โรคซิฟิลิสระยะเวลาที่ใช้ในการรักษานั้นขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค หากผู้ป่วยรีบมาพบแพทย์และทำการรักษาตั้งแต่ในระยะแรกของโรคก็จะยิ่งจะใช้เวลาในการรักษาน้อยลง อย่างไรก็ตามแนะนำให้พบแพทย์เพื่อประเมินอาการและทำการรักษาโดยเร็วที่สุด
4. ซิฟิลิส ควรตรวจหลังเสี่ยงกี่วัน?
ควรตรวจซิฟิลิสครั้งแรกหลังจากมีความเสี่ยงประมาณ 3-6 สัปดาห์ เนื่องจากระยะฟักตัวของซิฟิลิสอยู่ในช่วงนี้ ในระยะแรก (Primary Syphilis) ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการแผลเล็ก ๆ (Chancre) ที่บริเวณที่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย และผลการตรวจเลือดมักจะแสดงผลบวกในช่วงนี้
สรุปซิฟิลิสปล่อยไว้นานอาจไม่แสดงอาการ หากไม่แน่ใจควรรีบปรึกษาแพทย์
ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เป็นส่วนตัวสูง พร้อมจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
พญ.จิรภัทร สุริยะชัยสวัสดิ์
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
World Health Organization: WHO & World Health Organization: WHO. (2024, May 21). Syphilis. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/syphilis#:~:text=Overview,pregnancy%20and%20through%20blood%20transfusion.
Schwartz, A. A. (2024, February 18). Syphilis. WebMD. https://www.webmd.com/sexual-conditions/syphilis
Syphilis – Symptoms and causes – Mayo Clinic. (2023, October 7). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/syphilis/symptoms-causes/syc-20351756
Professional, C. C. M. (n.d.-b). Syphilis. Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/4622-syphilis