ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B

Key Takeaway

  • ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B สามารถก่อให้เกิดอาการรุนแรงได้ไม่แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A 
  • ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B มักระบาดมากขึ้นในช่วงฤดูฝนและในบางปีพบในฤดูหนาวด้วยเช่นกัน แต่ในประเทศไทยสามารถพบมีการระบาดได้ตลอดทั้งปี
สารบัญบทความ

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B คืออะไร 

ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B (Influenza B) คือหนึ่งในสามสายพันธุ์หลักของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่สามารถก่อโรคในมนุษย์ได้ นอกเหนือจากไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และ C ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มสายพันธุ์ใหญ่ คือ สายพันธุ์ Victoria และสายพันธุ์ Yamagata ซึ่งมักจะพบการระบาดมากขึ้นในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เนื่องจากอากาศที่เย็นช่วยส่งเสริมไวรัสให้เจริญเติบโตได้ดี โดยวิธีการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B สามารถแพร่กระจายได้ผ่านทางการหายใจเอาละอองฝอยจากการไอ จาม ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ รวมถึงการสัมผัสกับพื้นผิวที่มีไวรัสปนเปื้อนแล้วมีการนำมือมาสัมผัสถูกบริเวณใบหน้า

 

หลายคนสงสัยว่าโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B อันตรายไหม? โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ต้องนอนโรงพยาบาลไหม? จริง ๆ แล้วไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B นั้นมีอาการรุนแรงได้ไม่แตกต่างจากสายพันธุ์ A โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่ความเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวที่จำเป็นต้องเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B มีระยะเวลาฟักตัวประมาณ 1-4 วัน อาการไข้หวัดใหญ่ของผู้ป่วยสายพันธุ์ B คือ มีไข้สูงเฉียบพลัน, ปวดศีรษะ, หนาวสั่น, อ่อนเพลีย และมีอาการคัดจมูกร่วมด้วย ทั้งนี้หากป่วยเป็นระยะเวลานานก็อาจจะมีอาการหลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบติดเชื้อแทรกซ้อนขึ้นมาได้

 

ปรึกษาอาการไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B กับคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก ไม่มีค่าจัดส่งยา

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B อาการเป็นอย่างไร

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ที่สามารถพบ ได้แก่ 

  • มีไข้สูงเฉียบพลัน
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ไอ
  • เจ็บคอ
  • หนาวสั่น
  • อ่อนเพลีย 
  • คัดจมูก 
  • น้ำตาไหล ตาแดง
  • อาจมีอาการหลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบติดเชื้อแทรกซ้อนได้


รู้จักกับ โรคไข้หวัดใหญ่ อาการ วิธีการรักษา และการป้องกัน

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A อย่างไร

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B กับ A

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A กับ B ต่างกันยังไง? สำหรับความแตกต่างหลักระหว่างไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B กับ A คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A สามารถก่อโรคติดเชื้อได้ทั้งในมนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ เช่น หมู นก และม้า ทำให้มีโอกาสสูงในการกลายพันธุ์และก่อโรคข้ามสายพันธุ์ จึงมักพบการระบาดใหญ่ (Pandemic)ได้เป็นระยะ 

 

ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B นั้นมีสายพันธุ์หลัก 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ Victoria และ Yamagata เนื่องจากมีความหลากหลายน้อยกว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และพบการก่อโรคในมนุษย์เท่านั้น ทำให้พบการกลายพันธุ์น้อยกว่า จึงพบการระบาดในวงกว้างน้อยกว่า สำหรับความรุนแรงนั้นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B สามารถมีการดำเนินโรคที่มีอาการรุนแรงได้ไม่แตกต่างจากสายพันธุ์ A จึงควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก กลุ่มสตรีตั้งครรภ์ กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง กลุ่มผู้ป่วยโรคอ้วน

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B มีวิธีรักษาอย่างไร

เมื่อเราทราบแล้วว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ควรกินยาอะไรดี? สำหรับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B การรักษานั้นแพทย์จะให้ยารักษาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ดังนี้

  • รักษาโดยการใช้ยาต้านไวรัส เช่น โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) หรือซานามิเวียร์ (Zanamivir) เพื่อลดความรุนแรง และระยะเวลาของอาการ (ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์)
  • ให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ปวด ยาแก้ไอ เป็นต้น
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารปรุงสุกสะอาดให้ครบ 5 หมู่

 

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B กินยาอะไรบ้าง? ปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวันถึงเที่ยงคืน ไม่มีค่าปรึกษา

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ป้องกันได้อย่างไร 

วิธีการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ที่เราควรรู้และปฏิบัติตาม ได้แก่

  • รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
  • รักษาความสะอาดและสุขอนามัย ฟอกสบู่ และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งเมื่อทำการสัมผัส หยิบจับสิ่งของต่าง ๆ
  • สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องเดินทาง โดยสาร หรือเข้าไปอยู่ในสถานที่สาธารณะที่มีผู้คนรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก
  • หลีกเลี่ยงการนำมือมาสัมผัสบริเวณปาก ดวงตา และจมูก เพราะเป็นช่องทางในการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
  • เมื่อพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ภายในบ้าน ควรแยกตัวจากสมาชิกในครอบครัว
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ ช้อนส้อม
  • ใช้ช้อนกลางในการทานอาหารร่วมกับผู้อื่น

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B

1. ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B?

โดยทั่วไปแล้วทุกคนมีโอกาสติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ได้ แต่ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงอาจมีการดำเนินโรคที่มีอาการรุนแรงได้มากกว่าผู้ป่วยทั่วไปและ มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการแทรกซ้อน โดยผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 

  • กลุ่มสตรีตั้งครรภ์ หรือสตรีที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
  • กลุ่มเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี
  • กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  • กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคลมชัก โรคปอด หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น
  • กลุ่มผู้ป่วยโรคอ้วน

2. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B กี่วันหาย?

โดยทั่วไปแล้ว หากมีอาการเพียงเล็กน้อย โรคไข้หวัดใหญ่อาจทุเลาหายเองได้ภายใน 6-7 วัน แต่หากยังมีอาการไม่สบายต่อเนื่องนานมากกว่า 7 วัน ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม

3. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B อันตรายไหม?

เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B สามารถก่อโรคและมีอาการรุนแรงได้ไม่แตกต่างจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ทั้งยังสามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เช่น 

  • กลุ่มสตรีตั้งครรภ์ หรือสตรีที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
  • กลุ่มเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี
  • กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  • กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคลมชัก โรคปอด หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • กลุ่มผู้ป่วยโรคอ้วน

 

กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้หากเกิดอาการไข้หวัดใหญ่ควรรีบปรึกษาแพทย์

สรุปไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B หากไม่แน่ใจอาการควรรีบพบแพทย์

ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวัน พร้อมจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS

 

Content powered by BeDee Expert

นพ. ธณัติ อุ่นสินมั่น
อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ

 

เรียบเรียงโดย

กรวรรณ ใจซื่อกุล

Types of influenza viruses. (2023b, March 30). Centers for Disease Control and Prevention. https://www.cdc.gov/flu/about/viruses/types.htm

 

World Health Organization: WHO & World Health Organization: WHO. (2023, October 3). Influenza (Seasonal)https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/influenza-(seasonal)

 

Influenza (flu) – Symptoms and causes – Mayo Clinic. (2024b, January 10). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/flu/symptoms-causes/syc-20351719

บทความที่เกี่ยวข้อง

Key Highlight   กระเพาะปัสสาวะอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะโดยเฉพาะเชื้ออีโคไล (Escherichia coli) ที่พบบ่อยที่สุด ผู้ป่วยมักรู้สึกปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะไม่สุด ปวดท้องน้อย ปัสสาวะขุ่น  หากมีอาการควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาปฏิชีวนะ สารบ

Key Takeaways โรคลมหลับเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทที่มีลักษณะเด่นคือการง่วงนอนมากเกินไปในเวลากลางวัน ผู้ป่วยจะมีอาการวูบหลับนั่งหลับหลับกลางอากาศ หรือหลับแบบไม่รู้ตัว  ผู้ป่วยโรคลมหลับบางรายมีอาการ Cataplexy คืออาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย มักเ