ด้วยความเครียด การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ พักผ่อนไม่เพียงพอ ประเภทอาหารที่รับประทาน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อผู้ป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อนแล้วไม่ได้รับการรักษาหรือไม่เปลี่ยนพฤติกรรมก็อาจทำให้มีอาก
โรคซึมเศร้าในเด็ก สังเกตอารมณ์เศร้าของลูกที่พ่อแม่อาจมองข้าม
สมัยนี้คนส่วนใหญ่มักรู้จักโรคซึมเศร้ากันดี แต่เราอาจไม่รู้ว่านอกจากโรคซึมเศร้าในผู้ใหญ่แล้ว โรคซึมเศร้ายังสามารถพบได้ในเด็กอีกด้วย หลายคนอาจจะคิดว่าเพราะเป็นเด็กก็คงจะไม่เกิดโรคแบบนี้ขึ้น เพราะเด็กมีแต่ความสนุกสนาน ร่าเริง ไม่ได้มีความเครียดหรือความกดดันเหมือนผู้ใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วโรคซึมเศร้าในเด็กมีความอันตรายไม่ต่างจากผู้ใหญ่ เมื่อลูกมีภาวะซึมเศร้าคุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตได้ว่าลูกมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป ไม่สดใส ไม่ร่าเริง เริ่มเฉื่อยชา หรือแม้กระทั่งอาจทำให้ลูกมีความคิดอยากตายได้
โรคซึมเศร้าในเด็ก คืออะไร
โรคซึมเศร้าในเด็กเป็นภาวะทางจิตที่ทำให้เด็ก ๆ มีอารมณ์เศร้า หดหู่ ติดต่อกันนานเป็นสัปดาห์ เด็กที่มีภาวะซึมเศร้าอาจมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางจิตและทางร่างกายที่มีผลกระทบต่อการเรียนและการทำกิจกรรมประจำวันได้ อาการของโรคซึมเศร้าในเด็กอาจแตกต่างกันไปตามละช่วงวัย
เมื่อคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ที่ดูแลใกล้ชิดเด็ก ๆ สังเกตเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของเด็ก ๆ ควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทันที ปัจจุบัน BeDee เรามีทั้งนักจิตวิทยากับจิตแพทย์ คอยให้คำปรึกษา สะดวก รวดเร็ว เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง
โรคซึมเศร้าในเด็ก สาเหตุเกิดจากอะไร
ผู้ใหญ่อาจคิดว่าเด็ก ๆ ไม่ต้องเผชิญความกดดันหรือต้องต่อสู้ดิ้นรนเหมือนกับผู้ใหญ่ที่ต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว แต่เด็ก ๆ ก็มีความกดดันและการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาต้องปรับตัวและรับมือเช่นกัน ด้วยวัย การเปลี่ยนแปลง และความกดดันในรูปแบบที่เด็ก ๆ ต้องเผชิญอาจทำให้ลูกเป็นซึมเศร้าได้ สาเหตุของอาการโรคซึมเศร้าในเด็กโดยทั่วไปมีดังนี้
พันธุกรรม
คนในครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย เป็นโรคทางจิตเวชอื่น ๆ หรือมีประวัติการติดสุราเรื้อรังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าในเด็ก
ยาบางชนิด
การใช้ยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยาภูมิแพ้บางชนิด ยารักษาไวรัสบางชนิด ส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าในเด็กได้
โรค
ผลจากการเจ็บป่วยจากโรค เช่น โรคเรื้อรังต่าง ๆ โรคเบาหวานในเด็ก โรคแพ้ภูมิตนเองบางชนิด อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าในเด็ก
ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กมีภาวะซึมเศร้า คือปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น การเลี้ยงดูของผู้ปกครอง การที่พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ ไม่มีการทำกิจกรรมร่วมกัน ความรุนแรงในครอบครัวทั้งทางด้านร่างกายและคำพูด หรือการที่เด็กอาจต้องทำงานเพื่อช่วยครอบครัวหารายได้ การกดดันเรื่องการเรียน ความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง เด็กอาจถูกกลั่นแกล้งหรือไม่เป็นที่ยอมรับจากเพื่อนฝูงจนทำให้เด็กเป็นซึมเศร้า รวมถึงเรื่องความรักด้วยเช่นกัน
สังเกตเห็นลูกซึมเศร้าไม่ร่าเริง หรือไม่แน่ใจอาการรีบปรึกษาจิตแพทย์
สัญญาณเตือนภาวะซึมเศร้าในเด็ก มีอาการอะไรบ้าง
คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตภาวะซึมเศร้าในเด็ก โดยเฉพาะช่วงที่เด็กมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยต่าง ๆ เช่น วัยที่ต้องเข้าเรียน หรือวัยรุ่น ความเครียดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุเพราะเด็ก ๆ ต้องปรับตัวเข้าสู่สังคมในโรงเรียนไปเจอสังคมใหม่ ๆ ใช้ชีวิตอยู่กับคนอื่น ลูกอาจจะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน หรือไม่รู้จะจัดการกับความเครียดอย่างไร จึงเกิดความเครียดสะสม เริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เริ่มเก็บตัว ไม่ค่อยพูด และเริ่มไม่อยากไปเรียน ลูก ๆ อาจมีอาการซึมเศร้าในเด็กเหล่านี้ติดต่อกันอย่างน้อย 2 อาทิตย์
- หงุดหงิดง่าย
- เด็กมีอารมณ์ซึม เศร้า เฉื่อยชา ไม่อยากทำอะไร เบื่อหน่ายมากขึ้น
- กลัวการไปโรงเรียน เกาะติดผู้ปกครอง
- เริ่มเก็บตัว ไม่ค่อยพูดจา หรือพูดน้อยลงกว่าเดิม
- ผลการเรียนตก
- ต่อต้านสังคม ก้าวร้าว หนีโรงเรียน
- ใช้สารเสพติด
- ไม่มีความสุข ถึงแม้จะเป็นกิจกรรมที่เคยชอบมาก่อน
- ไม่อยากรับประทานอาหาร น้ำหนักลด หรือกินอาหารมากเกินไปในบางราย
- นอนไม่ค่อยหลับ หรือตื่นเร็วกว่าปกติ ในบางรายอาจนอนทั้งวัน
- ไม่มีสมาธิในการเรียน เรียนไม่เข้าใจ ความจำแย่ลง
- รู้สึกผิด โทษตัวเอง รู้สึกไร้ค่า
- แอบร้องไห้คนเดียว
- ใครทำอะไรก็ผิดหูผิดตา ไม่พอใจไปซะหมด
- อยากฆ่าตัวตาย หรือบ่นว่าอยากตาย
การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าในเด็ก
การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าในเด็กแพทย์จะใช้อาการในการวินิจฉัยเป็นหลัก โดยอ้างอิงตามเกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า DSM-5 Criteria ดังนี้
ผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ 5 อาการ หรือมากกว่า
- มีอารมณ์ซึมเศร้าแทบทั้งวัน และแทบทุกวัน ผู้ป่วยอาจจะบอกว่า รู้สึกเศร้า ว่างเปล่า สิ้นหวัง หรือผู้อื่นอาจจะสังเกตว่าผู้ป่วยร้องไห้ง่ายขึ้น (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิด)
- ความสนใจ หรือความเพลินใจในกิจกรรมต่าง ๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมากเกือบทุกวัน
- น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก
- นอนไม่หลับ หรือหลับมากเกินไป
- กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า หรือรู้สึกผิดมากเกินไป
- สมาธิลดลง ใจลอย ลังเล
- คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย
โดยผู้ป่วยต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ ยาวนาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และต้องมีอาการเหล่านี้อยู่แทบจะตลอดเวลาและเกือบทุกวัน อาการจะส่งผลให้เกิดความทุกข์อย่างชัดเจน หรือส่งผลต่อหน้าที่ต่าง ๆ เช่น การเรียน การงาน ด้านสังคม หรือหน้าที่ต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับวัยนั้นหรืออาชีพนั้น ๆ ภาวะซึมเศร้านี้ไม่ได้เกิดจากการใช้สารเสพติด หรือโรคทางกาย
การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าในเด็กนั้นต้องใช้ความชำนาญจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตเวช การช่วยให้เด็ก ๆ ได้รับการประเมินและการดูแลที่เหมาะสมสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดการสูญเสีย และทำให้เด็ก ๆ อาการดีขึ้นได้เร็วขึ้น
การรักษาโรคซึมเศร้าในเด็ก
การรักษาโรคซึมเศร้าในเด็กมีหลากหลายแนวทางแพทย์อาจพิจารณาใช้ยาร่วมกับการทำจิตบำบัด โดยเฉพาะจิตบำบัดเพื่อปรับความคิดและพฤติกรรม และจิตบำบัดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทั้งนี้จิตแพทย์และนักจิตวิทยาจะต้องพิจารณาทั้งเรื่องอายุ ความรุนแรงของโรค และประเมินสิ่งแวดล้อม ก่อนเริ่มกระบวนการรักษา ดังนั้นหากผู้ปกครองไม่แน่ใจถึงความรุนแรงของโรค หรือแนวทางในการรักษาควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
เมื่อลูกมีภาวะซึมเศร้า ผู้ปกครองควรดูแลอย่างไร
ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ปกครองต่อการรับมือภาวะซึมเศร้าในเด็กคือการรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้เร็วที่สุด เมื่อคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกซึม ไม่ร่าเริง หรือสังเกตเห็นถึงอาการโรคซึมเศร้าในเด็กอื่น ๆ ควรรีบบอกเล่าอาการเหล่านั้นให้กับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาฟังเพื่อประเมินอาการและหาทางรับมือได้อย่างเหมาะสม
หาทำกิจกรรมทำร่วมกับลูก
การทำกิจกรรมโดยทั่วไปแล้วก็คือการให้เวลากับลูกนั่นเอง แต่ต้องเป็นเวลาคุณภาพ คือการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน อาจเป็นกิจกรรมที่ลูกชอบ เช่น วาดรูป ออกไปท่องเที่ยว สำรวจสิ่งต่าง ๆ พาสุนัขออกไปเดิน พยายามใช้เวลาทำสิ่งต่าง ๆ ร่วมกับเด็ก ๆ ไม่ปล่อยให้เขาอยู่เพียงลำพังก็เป็นวิธีหนึ่งที่สำคัญในการจัดการกับโรคซึมเศร้าในเด็กควบคู่กับการพบจิตแพทย์ได้
พูดคุยกับลูกสม่ำเสมอ
การพูดคุยสำคัญอย่างมากต่อการจัดการอาการซึมเศร้าเด็ก การพูดคุยในที่นี้ผู้ใหญ่ควรพูดคุยกับเด็ก ๆ โดยใช้เหตุผลเสมอ ไม่ใช้อารมณ์และความรุนแรง เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้แสดงความคิดเห็นของตัวเอง พยายามให้เขาได้เล่าถึงปัญหาและความรู้สึกของตัวเอง สร้างบรรยากาศผ่อนคลาย ไม่กดดัน ทำให้เขารู้สึกสบายใจและไว้วางใจที่จะคุยกับเรา
ปรึกษาคุณครูหรือคนอื่น ๆ ที่ใกล้ชิดลูก
คุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่ได้อยู่กับลูก ๆ ตลอด 24 ชั่วโมง การสอบถามพฤติกรรมลูก ๆ เมื่ออยู่ที่โรงเรียนกับคุณครูเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยให้เราได้เข้าใจลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมของลูกเมื่ออยู่ที่โรงเรียนได้ดียิ่งขึ้น
คอยสังเกตพฤติกรรม
อาการซึมเศร้าในเด็กสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ปกครองจะต้องคอยสังเกตพฤติกรรมลูก ๆ อย่างใกล้ชิด เพราะบางทีเด็กอาจจะไม่ได้บอกเล่าปัญหาหรือความขับข้องใจของเขาให้เราได้รู้ หรือเราอาจเพิกเฉยต่ออาการซึมเศร้าในเด็กจนทำให้มองข้ามปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้ใหญ่ควรให้เวลากับเด็ก ๆ คอยสังเกตพฤติกรรม อารมณ์ ลักษณะนิสัยของลูก ๆ อย่างใกล้ชิด
สังเกตเห็นลูกซึมเศร้าไม่ร่าเริง หรือไม่แน่ใจอาการ รีบปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าในเด็ก
1. โรคซึมเศร้าในเด็กอันตรายไหม?
โรคซึมเศร้าในเด็กอันตรายไม่ต่างจากโรคซึมเศร้าในผู้ใหญ่ ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงและความเสี่ยงของเด็กด้วย สิ่งที่ยากต่อการสังเกตเห็นอาการของโรคคือบางครั้งเด็กหรือวัยรุ่นยังไม่สามารถบอกอารมณ์หรือความต้องการของตัวเองอย่างตรงไปตรงมาได้ ผู้ดูแลหรือผู้ปกครองจึงควรหมั่นใส่ใจพูดคุยสอบถาม และสังเกตอยู่อย่างสม่ำเสมอ
2. โรคซึมเศร้าในเด็กมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดหรือไม่?
โรคซึมเศร้าในเด็กเกิดได้จากหลายปัจจัยจากที่กล่าวไปข้างต้น หากต้องการป้องกันโรคซึมเศร้าในเด็กควรเน้นแก้ไขปัจจัยที่ใกล้ตัว เช่น ครอบครัว โรงเรียน หรือสิ่งแวดล้อม ผู้ปกครองคือส่วนสำคัญที่จะช่วยสังเกตการเปลี่ยนแปลงของเด็ก ๆ และสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก หากไม่แน่ใ ไม่ควรปล่อยจนเป็นปัญหาใหญ่ สามารถปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อระบุปัญหาและจัดการได้อย่างทันท่วงที
สรุปโรคซึมเศร้าในเด็ก ไม่แน่ใจควรรีบปรึกษาจิตแพทย์
จะเห็นได้ว่าโรคซึมเศร้าในเด็กเป็นอาการโรคทางจิตเวชที่รุนแรงไม่แพ้โรคซึมเศร้าในผู้ใหญ่และยังยากต่อการสังเกตเห็นอาการได้เนื่องจากเด็ก ๆ ยังอาจไม่สามารถบอกเล่าความรู้สึกของพวกเขาได้อย่างชัดเจนต่างจากผู้ใหญ่ คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครองคือส่วนสำคัญในการสังเกตเห็นพฤติกรรมและอารมณ์ของลูก ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป หากไม่แน่ใจอาการควรรีบปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อขอคำแนะนำทันที
ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีจิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษาและจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
นพ.กฤตภาส ทองรักอยู่
จิตแพทย์ทั่วไป
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
- Depressive Disorders in Children and Adolescents – Pediatrics. (n.d.). MSD Manual Professional Edition. https://www.msdmanuals.com/professional/pediatrics/psychiatric-disorders-in-children-and-adolescents/depressive-disorders-in-children-and-adolescents
- Depressogenic effects of medications: a review. (2011). Medical and Physiological Aspects of Depression, 13(1), 109–125. https://doi.org/10.31887/dcns.2011.13.1/ccelano
- Childhood Depression: What Parents Need to Know (for Parents) – Nemours KidsHealth. (n.d.). Kidshealth.org. https://kidshealth.org/en/parents/understanding-depression.html#:~:text=Having%20extra%20support%20during%20and