Key Highlight กระเพาะปัสสาวะอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะโดยเฉพาะเชื้ออีโคไล (Escherichia coli) ที่พบบ่อยที่สุด ผู้ป่วยมักรู้สึกปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะไม่สุด ปวดท้องน้อย ปัสสาวะขุ่น หากมีอาการควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาปฏิชีวนะ สารบ
โรคบาดทะยักคืออะไร ได้รับเชื้อจากไหน และมีอาการอย่างไร
บาดทะยักเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ผ่านทางบาดแผลตามร่างกาย ซึ่งส่งผลให้มีอาการทางระบบประสาทตามมา และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ในที่สุด แม้ในปัจจุบันจะมีวัคซีนป้องกันเชื้อบาดทะยักแล้ว แต่ยังคงพบผู้ป่วยโรคนี้ได้บ่อยครั้ง ซึ่งบางครั้งเกิดจากบาดแผลขนาดเล็กเพียงนิดเดียว แต่ด้วยความชะล่าใจในการรักษาความสะอาดของบาดแผล ทำให้ได้รับเชื้อบาดทะยักในที่สุด
บาดทะยัก คืออะไร
โรคบาดทะยัก (Tetanus) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Clostridium Tetani มักพบได้ในดิน ฝุ่น และมูลของสัตว์ต่าง ๆ โดยเชื้อชนิดนี้ หลังจากเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผลที่เกิดขึ้น จะสร้างสารพิษ Tetanospasmin ซึ่งเป็นสารพิษที่ส่งผลต่อระบบประสาทขึ้นมา ทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการตึง แข็งเกร็ง มีอาการกระตุก และก่อให้เกิดความเจ็บปวดทางกายเป็นอย่างมาก รวมถึงอาจทำให้เกิดปัญหาต่อระบบหายใจ ลามไปยังไขสันหลัง จนถึงก้านสมองบางส่วน และนำไปสู่อันตรายถึงแก่ชีวิตได้ในท้ายที่สุด
แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีการรักษาโรคบาดทะยักโดยตรง ทำได้แค่รักษาตามอาการเท่านั้น แต่ก็มีโอกาสที่จะหายจากโรค และกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เช่นกัน ทั้งนี้โรคบาดทะยักสามารถป้องกันการติดเชื้อ หรือลดความรุนแรงจากโรคได้ ด้วยการฉีดวัคซีนกันบาดทะยักให้ครบถ้วน
อาการของโรคบาดทะยัก มีอะไรบ้าง?
เมื่อร่างกายได้รับเชื้อบาดทะยักแล้ว จะมีระยะฟักตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 7-14 วัน หากผู้ป่วยแสดงอาการอย่างรวดเร็วกว่าระยะฟักตัวของเชื้อ อาจประมาณการได้ว่ามีการติดเชื้อที่รุนแรง และรักษาได้ยากกว่ากรณีทั่วไป ซึ่งอาการของบาดทะยัก มักมีลักษณะดังนี้
- เกิดภาวะกรามติด กล้ามเนื้อขากรรไกรหดเกร็ง อ้าปากลำบาก สื่อสารลำบาก
- กล้ามเนื้อคอแข็ง หดเกร็ง จนทำให้หายใจ และกลืนไม่สะดวก
- กล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ เกิดอาการหดเกร็งร่วมด้วย เช่น ช่องท้อง หลัง
- มีอาการกล้ามเนื้อกระตุก และสร้างความเจ็บปวดให้กับร่างกาย เป็นเวลาหลายนาที โดยเฉพาะเมื่อถูกกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เช่น ลม แสง เสียง
- มีไข้สูง
- เหงื่อออกมาก
- หัวใจเต้นเร็ว
- เป็นตะคริว มีอาการลมชัก
อาการเหล่านี้เป็นอาการเริ่มแรกของโรคบาดทะยักที่สามารถสังเกตได้ง่าย ถ้ามีอาการลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษาอาการตามความเหมาะสมต่อไป หากปล่อยทิ้งไว้จนอาการรุนแรงขึ้น อาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
อาการบาดทะยักแบบใดที่ควรพบแพทย์
โดยปกติแล้ว หากบาดแผลที่เกิดขึ้นได้รับการรักษาความสะอาดเป็นอย่างดี และได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว โอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อบาดทะยักก็จะน้อยลง แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการ หรือเข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่ง ในลักษณะอาการที่จะกล่าวต่อไปนี้ ไม่ว่าแผลนั้นจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ขนาดไหนก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา และฉีดยากันบาดทะยักโดยด่วน
- เริ่มมีอาการของบาดทะยัก ในลักษณะที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
- บาดแผลมีการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกต่าง ๆ ซึ่งอาจทำความสะอาดแผลได้ไม่ดีพอ โดยเฉพาะแผลที่มีความลึกค่อนข้างมาก หรือแผลบริเวณใต้เท้า ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
- ผู้ป่วยยังไม่ได้ฉีดวัคซีนบาดทะยักจนครบจำนวนเข็ม หรือจำไม่ได้ว่าตนเองได้รับวัคซีนแล้วหรือไม่
- ผู้ป่วยได้รับการฉีดวัคซีนบาดทะยักครั้งล่าสุด เกินระยะเวลา 5 ปีมาแล้ว
- ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักทุก ๆ 10 ปี
บาดทะยัก เกิดจากสาเหตุใด?
โรคบาดทะยัก เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่มีความรุนแรงของโรคค่อนข้างมาก เนื่องจากส่งผลกระทบต่อระบบประสาท อันก่อให้เกิดความเจ็บปวดทางกายเป็นอย่างมาก และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ในท้ายที่สุด จึงควรระมัดระวังให้ดี ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคบาดทะยักได้ มีดังนี้
- เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Clostridium Tetani ซึ่งมักพบได้ในดิน ฝุ่น และมูลของสัตว์ต่าง ๆ ผ่านทางบาดแผลที่เกิดขึ้น
- ผู้ป่วยไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนบาดทะยักมาก่อน หรือได้รับไม่ครบจำนวนเข็มที่กำหนดไว้ รวมไปถึงไม่ได้รับวัคซีนป้องกันทุก ๆ 10 ปี จึงติดเชื้อบาดทะยักได้ง่ายกว่าปกติ
- บาดทะยักไม่ใช่โรคติดต่อ จึงไม่สามารถแพร่จากคนสู่คนได้ จะเกิดอาการขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเกิดบาดแผล และมีการติดเชื้อเท่านั้น
ลักษณะแผลแบบใดที่เสี่ยงเป็นบาดทะยัก
โดยทั่วไปแล้ว แผลที่มีความลึก และมีการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกต่าง ๆ จะมีโอกาสในการติดเชื้อบาดทะยักได้ง่ายกว่าบาดแผลทั่วไป ซึ่งลักษณะของบาดแผล ที่เสี่ยงเป็นบาดทะยักได้ง่าย มีดังนี้
- แผลจากการถูกสัตว์กัด หรือข่วน เช่น สุนัข แมว
- แผลไฟไหม้
- แผลจากของมีคม เช่น ตะปู มีด เสี้ยนไม้
- แผลถลอก หรือรอยครูดจากการล้ม
- แผลกระดูกหัก ที่มีการทะลุออกมาภายนอกผิวหนัง
- แผลติดเชื้อที่ฟัน
- แผลติดเชื้อที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งแผลจะหายช้า และติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ
ถือได้ว่าความสะอาดและลักษณะของแผล เป็นตัวแปรสำคัญในการติดเชื้อบาดทะยัก หากแผลมีความลึกมาก ยากที่จะทำความสะอาดได้ดี หรือสิ่งที่ทำให้เกิดบาดแผลมีการปนเปื้อน ไม่สะอาด ก็อาจทำให้ติดเชื้อบาดทะยักได้ง่ายยิ่งขึ้น
อาการแทรกซ้อนจากบาดทะยัก
เมื่อมีการติดเชื้อบาดทะยัก ไม่ใช่แค่อาการจากเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ที่จะส่งผลต่อร่างกาย ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ขึ้นได้ และส่งผลอันตรายถึงชีวิตในท้ายที่สุด ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ขณะป่วยเป็นโรคบาดทะยัก มีดังนี้
- ภาวะแทรกซ้อนในระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เมื่อผู้ป่วยมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อที่มากผิดปกติ อาจทำให้กระดูกสันหลัง และกระดูกส่วนอื่น ๆ เกิดการแตกหักตามมาได้
- ภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยอาจเกิดโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด โรคปอดอักเสบ และระบบหายใจล้มเหลวจนถึงแก่ชีวิต
- ภาวะแทรกซ้อนในระบบหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยอาจมีอาการหัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ จนนำไปสู่ภาวะหัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตในที่สุด
มีอาการผิดปกติหรือไม่แน่ใจอย่าปล่อยไว้ รีบปรึกษาแพทย์ด่วน
วิธีป้องกันบาดทะยัก
การป้องกันโรคบาดทะยักเบื้องต้นสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และลดความรุนแรงของอาการจากโรคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับวัคซีนกันบาดทะยักอย่างถูกต้อง และครบถ้วนตามจำนวนที่กำหนดไว้ ควบคู่ไปกับการดูแล และรักษาความสะอาดบริเวณบาดแผลอย่างเหมาะสม
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก
ในปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก สำหรับเด็กอายุ 11 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ มีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ วัคซีนรวมบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap) และวัคซีนรวมบาดทะยัก คอตีบ (Td) โดยมีข้อกำหนดสำหรับการฉีดวัคซีนบาดทะยัก เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ดังนี้
- ผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน หรือจำไม่ได้ว่าเคยฉีดวัคซีนหรือไม่ ควรฉีดวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม และหากมีบาดแผลลึกเกิดขึ้น ควรได้รับเข็มกระตุ้นเพิ่มอีก 1 เข็ม
- วัยรุ่นอายุ 11 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ ที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนแล้วเมื่อตอนเป็นทารก 5 เข็ม ควรได้รับการฉีดวัคซีนชนิด Td กระตุ้นภูมิคุ้มกันทุก 10 ปี
- เมื่อได้รับบาดเจ็บจนเกิดแผล หากเป็นแผลขนาดเล็ก และเคยฉีดบาดทะยักมาแล้วไม่เกิน 10 ปี ไม่จำเป็นที่จะต้องฉีดยาเพิ่ม แต่ถ้าหากเกิน 10 ปีแล้ว ต้องได้รับการฉีดกระตุ้น 1 เข็ม
- หากเป็นแผลขนาดใหญ่ บาดแผลลึก ในกรณีที่ได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายนานเกิน 5 ปีมาแล้ว ต้องฉีดกระตุ้นเพิ่ม 1 เข็ม เพื่อป้องกันการติดเชื้อบาดทะยัก
การวินิจฉัยโรคบาดทะยัก
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคบาดทะยักจากการตรวจร่างกาย และการซักประวัติเพิ่มเติมว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคบาดทะยักหรือไม่ เช่น อาการปวดกล้ามเนื้อ การชักกระตุก อีกทั้งมีประวัติการรับวัคซีนป้องกันบาดทะยักอย่างไรบ้าง ก่อนดำเนินการรักษาตามอาการ และพิจารณาให้ผู้ป่วยฉีดวัคซีนตามข้อกำหนดต่อไป
ในบางกรณีอาจมีการส่งตรวจทางคลินิกเพิ่มเติม เพื่อให้วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคชนิดอื่นที่มีอาการคล้ายคลึงกัน อย่างโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือโรคพิษสุนัขบ้า
การรักษาโรคบาดทะยัก
สำหรับการรักษาโรคบาดทะยัก แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีการรักษาโดยตรง ทำได้แค่รักษาตามอาการ และฉีดวัคซีน เพื่อลดการกระจายตัวของเชื้อ รวมไปถึงลดความรุนแรงของโรคเท่านั้น หากผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการของโรคอย่างชัดเจนขึ้น จะมีกระบวนการรักษาตามอาการ ดังนี้
การทำความสะอาดบาดแผล
แพทย์จะทำการรักษาโดยการทำความสะอาดบาดแผลบาดทะยักอย่างเหมาะสม โดยการนำเนื้อตาย สิ่งแปลกปลอม และสิ่งสกปรกต่าง ๆ ออกจากบาดแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่ม
การฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
ให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Tetanus Immunoglobulin และยาปฏิชีวนะ รวมไปถึงฉีดวัคซีนบาดทะยักร่วมด้วย เพื่อใช้ในการรักษาแบคทีเรียบาดทะยัก
การจ่ายยาเพื่อควบคุม และบรรเทาอาการของโรค
แพทย์จะทำการจ่ายยาตามอาการของโรคบาดทะยักที่เกิดขึ้น เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาระงับประสาท และยาระงับการชัก เพื่อบรรเทา และควบคุมอาการปวดเกร็ง รวมไปถึงการชักกระตุกของกล้ามเนื้อ
การรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น
สำหรับการรักษาภาวะแทรกซ้อนนั้น จะขึ้นอยู่กับอาการจากบาดทะยักของผู้ป่วยด้วย เช่น หากผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินหายใจ แพทย์จะทำการจ่ายยาชนิดต่าง ๆ เพิ่มเติม และเพิ่มการใส่เครื่องช่วยหายใจ เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้น หรือหากผู้ป่วยไม่สามารถทานอาหารได้เอง แพทย์อาจพิจารณาให้อาหารผ่านทางเส้นเลือดแทน
ปรึกษาอาการบาดทะยักและการรักษากับแพทย์ผู้ชำนาญการที่แอป BeDee สะดวก ไม่ต้องเดินทาง
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นบาดทะยัก
เมื่อป่วยเป็นโรคบาดทะยักแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการรักษาโรคนี้คือ ความสะอาด ต้องดูแลรักษาบาดแผลให้สะอาดที่สุด เพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่ม โดยสามารถดูแลตนเองเมื่อเป็นบาดทะยัก ได้ตามวิธีการดังนี้
- หมั่นล้างและดูแลบาดแผลให้สะอาดที่สุด เพื่อไม่ให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น
- ใช้ผ้าก๊อซปิดแผลให้มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปในแผล
- รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมอาการของโรคบาดทะยัก
- ฉีดวัคซีนบาดทะยักให้ครบถ้วนตามที่แพทย์กำหนด
ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักที่ไหนดี?
การฉีควัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักสามารถเลือกฉีดวัคซีนป้องกัน หรือฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันทุก 10 ปี ได้ตามโรงพยาบาลชั้นนำ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และลดความรุนแรงของอาการจากโรคบาดทะยัก หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน เช่น วัคซีนบาดทะยักต้องฉีดกี่เข็ม วัคซีนบาดทะยักอยู่ได้กี่ปี สามารถปรึกษาแพทย์ได้ที่ BeDee แอปดูแลสุขภาพจากทีมแพทย์ผู้ชำนาญการภายใต้เครือ BDMS
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับบาดทะยัก
ตอบคำถามที่พบบ่อยของโรคบาดทะยัก
1. บาดทะยัก อันตรายถึงชีวิตไหม?
บาดทะยักส่งผลให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ หากผู้ป่วยมีการติดเชื้อรุนแรง และดูแลรักษาแผลไม่ถูกสุขลักษณะ จนเกิดการลุกลาม และไม่ได้รับวัคซีนบาดทะยักอย่างครบถ้วน รวมไปถึงไม่ได้เข้ารับการรักษาจากแพทย์อย่างทันท่วงที ผู้ป่วยก็สามารถเสียชีวิตจากการติดเชื้อบาดทะยักได้
2. บาดทะยักสามารถหายเองได้หรือไม่?
โรคบาดทะยักไม่สามารถหายเองได้ และหากได้รับการรักษาไม่ทันเวลา จะยิ่งทำให้เชื้อลุกลาม จนก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น หากผู้ป่วยเกิดบาดแผลซึ่งมีความเสี่ยงจะเป็นบาดทะยักสูง ควรรีบมาพบแพทย์โดยด่วน
3. วัคซีนบาดทะยัก ฉีดกี่เข็ม?
การฉีดวัคซีนบาดทะยักในผู้ใหญ่ ต้องฉีดวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม ในกรณีที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน หรือไม่แน่ใจว่าเคยฉีดวัคซีนหรือไม่ แต่หากเคยได้รับวัคซีนมาก่อนแล้วเมื่อตอนเป็นทารก ก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 1 เข็ม ทุก 10 ปี
4. โดนตะปูมีสนิม เป็นบาดทะยักจริงไหม?
ผู้ป่วยที่โดนตะปูมีสนิมมีโอกาสที่จะเป็นบาดทะยักได้ แต่ไม่ใช่ทุกรายที่จะเป็นบาดทะยัก หากผู้ป่วยได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วนและทันเวลา อย่างไรก็ตามการเกิดบาดแผลจากตะปู ก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อบาดทะยักได้มากกว่ากรณีอื่น ๆ เนื่องจากบาดแผลจากตะปูจะมีความลึก ทำความสะอาดได้ยาก ที่สำคัญตะปูยังปนเปื้อนสนิม จึงสามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อได้มากกว่าปกติ
สรุปความอันตรายจากบาดทะยัก
โรคบาดทะยัก เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียจากทางบาดแผล ที่มีความอันตรายเป็นอย่างมาก หากไม่ได้รับวัคซีน หรือการรักษาที่ทันเวลา ก็อาจถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น จึงไม่ควรชะล่าใจในการดูแล และควรให้ความสำคัญในการรักษาความสะอาดบาดแผลให้ดี แม้จะเป็นแผลเพียงเล็กน้อยก็ตาม
ปรึกษาหมอออนไลน์ พยาบาล หรือปรึกษาเภสัชกรที่แอป BeDee ได้ทุกวัน เรามีแพทย์และเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษาและจัดส่งสินค้าถึงมือ เลือกปรึกษาตามเวลาที่คุณสะดวก เป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Expert
ภญ.วรรณพร เกตุเลิศประเสริฐ
เภสัชกร
Yabes, J. (2023, November 9). Tetanus Treatment & Management. Medscape. https://emedicine.medscape.com/article/229594-treatment?form=fpf
Felman, A. (2023, June 26). Everything you need to know about tetanus. MedicalNewsToday. https://www.medicalnewstoday.com/articles/163063
Identify whether the wound is tetanus-prone. (2023, June 30). Department of Health and Aged Care Australian Government. https://immunisationhandbook.health.gov.au/recommendations/identify-whether-the-wound-is-tetanus-prone