ตากุ้งยิงอาการเป็นอย่างไร สาเหตุ และวิธีรักษาตากุ้งยิงอย่างเร่งด่วน
“ตากุ้งยิง” หรืออาการอักเสบ ติดเชื้อบริเวณเปลือกตาที่หลายคนคงเคยประสบกับตัวเอง จะไปไหนก็อายคนอื่นเพราะมีอาการเจ็บตา ตาบวม บางรายอาจต้องปิดตา ลำบากต่อการมองเห็นและใช้ชีวิต บางคนมีความเชื่อว่าเป็นตากุ้งยิงเพราะแอบดูคนอื่นอาบน้ำ จริง ๆ แล้วตากุ้งยิงเกิดจากอะไร มีวิธีป้องกันและรักษาอย่างไรบ้าง มาดูกันเลย
ตากุ้งยิงคืออะไร
ตากุ้งยิง (Hordeolum)เกิดจากการอักเสบของต่อมไขมันที่บริเวณเปลือกตา เมื่อไขมันที่เปลือกตาอุดตันไม่สามารถระบายออกมาได้หรือมีฝุ่นละอองมาเกาะจึงทำให้ไขมันเหล่านั้นอุดตันเป็นก้อน และเมื่อรวมกับการติดเชื้อแบคทีเรียจึงทำให้เกิดการอักเสบ เป็นหนองลักษณะคล้ายสิว บวม แดง รู้สึกเจ็บบริเวณเปลือกตาจนเกิดอาการที่เราเรียกว่า “ตากุ้งยิง”
ประเภทของตากุ้งยิง
External Hordeolum
ตากุ้งยิงประเภท External Hordeolum คืออาการตากุ้งยิงบริเวณขอบเปลือกตาด้านนอก ซึ่งจะเกิดตุ่มหนองลักษณะคล้ายสิวนูนออกมาจนสังเกตเห็นได้
Internal Hordeolum
ตากุ้งยิงประเภท External Hordeolum คืออาการตากุ้งยิงที่เยื่อบุตาด้านใน หรือตากุ้งยิงไม่มีหัว อาการตากุ้งยิงหลบในนี้ผู้ป่วยอาจไม่สังเกตเห็นหัวหนอง
อาการตากุ้งยิง
อาการตากุ้งยิงในช่วงแรกผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บ คัน บริเวณเปลือกตา ซึ่งต่อมาจะเริ่มรู้บวมที่เปลือกตา รู้สึกเมื่อจับหรือสัมผัสแล้วมีก้อนที่ตา โดยทั่วไปแล้วอาการตากุ้งยิงที่สังเกตได้ เช่น
- คันตา เจ็บตา
- เปลือกตาบวม สัมผัสแล้วเจ็บ
- สัมผัสเปลือกตาแล้วรู้สึกมีก้อน
- มีตุ่มหนองลักษณะคล้ายสิว หรือฝี
การรักษาตากุ้งยิงโดยแพทย์
หากผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณที่เป็นตากุ้งยิงมาก ตาบวม แดง หนังตาปิดทำให้สายตามองเห็นไม่ชัด แนะนำให้รีบพบแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาการวิธีรักษาตากุ้งยิงโดยการให้ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ และในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นที่จะต้องเจาะตุ่มหนองบริเวณที่เป็นตากุ้งยิง เพื่อเป็นการระบายหนองออกไป
การปฏิบัติตัวก่อนเจาะตากุ้งยิง
- ล้างหน้า สระผมให้สะอาดก่อนการรักษา
- งดแต่งหน้า ทาครีมโดยเฉพาะบริเวณดวงตา
- งดการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด เช่น ยา Warfarin หรือ Aspirin ก่อนเจาะตากุ้งยิง หรือปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเพื่อขอคำแนะนำ
การปฏิบัติตัวหลังเจาะตากุ้งยิง
หลังจากที่เจาะหนองตากุ้งยิงออกแล้วแพทย์จะใช้ผ้าก๊อซปิดตาที่ทำการรักษา ซึ่งผู้ป่วยจะสามารถเปิดผ้าก๊อซตามเวลาที่แพทย์แนะนำ นอกจากนี้ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวหลังเจาะตากุ้งยิง ดังนี้
- เมื่อเปิดตาแล้วควรใช้ยาหยอดตาหรือรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง
- ไม่ควรขยี้ สัมผัส หรือแกะบริเวณแผลโดยเด็ดขาด
- ทำความสะอาดดวงตาด้วยผ้าก๊อซหรือสำลีสะอาดชุบน้ำอุ่นด้วยความระมัดระวัง
- งดแต่งหน้า
- งดใส่คอนแทคเลนส์
- ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
- หากมีอาการปวด บวม ผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์
การดูแลตนเองเมื่อเป็นตากุ้งยิง
- ไม่สัมผัสหรือแกะ เกา บริเวณดวงตาทั้งสองข้าง
- ประคบอุ่นบริเวณเปลือกตาครั้งละ 5-10 นาที วันละ 3-5 ครั้ง โดยใช้ผ้าสะอาด
- ไม่ควรใช้ผ้าที่ประคบตาข้างที่เป็นตากุ้งยิงประคบดวงตาอีกข้างด้วย เพราะอาจทำให้ตาอีกข้างติดเชื้อได้เช่นกัน
- ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
- ไม่บีบหรือเจาะหนองด้วยตนเอง
ส่วนใหญ่อาการตากุ้งยิงมักจะหายได้เอง แต่หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงผู้ป่วยควรพบจักษุแพทย์
วิธีป้องกันและดูแลดวงตาไม่ให้เป็นตากุ้งยิง
ตากุ้งยิงสามารถป้องกันได้โดยการปรับพฤติกรรมดังนี้
- พยายามไม่ขยี้ตา
- ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
- ล้างหน้าและล้างเครื่องสำอางให้สะอาดโดยเฉพาะบริเวณดวงตา
- ล้างมือและอุปกรณ์คอนแทคเลนส์ให้สะอาดก่อนใส่และถอดทุกครั้ง กรณีที่ใช้คอนเทคเลนส์รายเดือน แนะนำให้เปลี่ยนคอนเทคเลนส์ให้ตรงตามกำหนดวันหมดอายุ
- หากเกิดภาวะต่อมไขมันอุดตันที่เปลือกตาสามารถประคบอุ่นบริเวณดวงตาได
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับตากุ้งยิง
1. ตากุ้งยิงติดต่อหรือไม่?
ตากุ้งยิงเกิดจากการอักเสบของต่อมไขมันที่บริเวณเปลือกตาประกอบกับการติดเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นโรคตากุ้งยิงจึงไม่ใช่โรคติดต่อ
2. ตากุ้งยิงกี่วันถึงหาย?
ปกติแล้วตากุ้งยิงสามารถหายเองได้ภายใน 4-5 วัน ด้วยการประคบอุ่นดวงตาควบคู่ไปด้วยซึ่งหนองจะแตกและยุบหายไปเอง อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยดูแลความสะอาดได้ไม่ดีอาจทำให้แผลตากุ้งยิงติดเชื้อและหายยากยิ่งขึ้น จึงแนะนำให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการดูแลที่ถูกต้อง
3. ตากุ้งยิง หายเองได้ไหม?
ถึงแม้ว่าอาการตากุ้งยิงมักจะหายได้เอง แต่หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงผู้ป่วยควรพบจักษุแพทย์โดยด่วน
ตากุ้งยิงต้องรีบพบแพทย์
ถึงแม้โรคตากุ้งยิงจะสามารถรักษาให้หายเองได้แต่หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นผู้ป่วยสามารถปรึกษาเภสัชกรเบื้องต้นได้ แต่หากมีอาการรุนแรงขึ้นสามารถปรึกษาแพทย์ได้เช่นกัน เนื่องจากการรักษาตากุ้งยิงด้วยตัวเองนั้นเราอาจรักษาความสะอาดได้ไม่ดีพอ ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบที่รุนแรงขึ้นได้
ปรึกษาอาการตากุ้งยิงเพิ่มเติมได้ที่ BeDee แพทย์ผู้ชำนาญการและเภสัชกรพร้อมให้คำปรึกษา สะดวก ไม่ต้องเดินทาง เราพร้อมช่วยเหลือคุณทุกวัน พร้อมส่งสินค้าถึงมือ สอบถามเพิ่มเติม Line Official : @BeDeebyBDMS
Content powered by BeDee Experts
ภญ.วุฒิรัต ธรรมวุฒิ
เภสัชกร
เรียบเรียงโดย
กรวรรณ ใจซื่อกุล
Hordeolum (stye). (n.d.). AOA. https://www.aoa.org/healthy-eyes/eye-and-vision-conditions/hordeolum?sso=y
Hordeolum. (n.d.). College of Optometrists. https://www.college-optometrists.org/clinical-guidance/clinical-management-guidelines/hordeolum